เอชพีขนเลเซอร์พรินเตอร์ งานพิมพ์ดิจิตอล

หนึ่งในธุรกิจที่สำคัญของฮิวเลตต์-แพคการ์ด (เอชพี) คือ กลุ่มธุรกิจการพิมพ์และภาพ หรือ ไอพีจี โดยเฉพาะตลาดเครื่องพิมพ์เลเซอร์พรินเตอร์แล้ว เอชพีครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย โดยตามข้อมูลจากบริษัทวิจัยไอทีอย่างไอดีซีระบุว่ามี 40% รวมถึงมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ในเมืองไทยมาเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตามตลาดเครื่องพิมพ์เลเซอร์พรินเตอร์มีแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามามากขึ้น ทำให้เอชพีต้องพยายามฉีกหนีตลาดสงครามราคา เพื่อรักษาความเป็นผู้นำตลาดเครื่องพิมพ์เลเซอร์เอาไว้
ทั้งนี้"ฐานเศรษฐกิจ"เป็นหนึ่งในสื่อมวลชนจากไทยที่ได้รับเกียรติเข้าร่วมงาน "Fast Forward with the HP Value Equation" ที่จัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่งประเทศจีน โดยงานดังกล่าวถือเป็นการประกาศกลยุทธ์การขยายตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องพิมพ์เลเซอร์ครั้งสำคัญของเอชพีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และญี่ปุ่น
****ธุรกิจการพิมพ์มุ่งสู่ดิจิตอล
โดยนายจอห์น โซโลมอน รองประธานอาวุโส กลุ่มธุรกิจภาพและการพิมพ์ หรือไอพีจี บริษัทฮิวเลตต์-แพคการ์ด ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก พีทีอี จำกัด กล่าวว่าอุตสาหกรรมด้านการพิมพ์เนื้อหา (Content) กำลังเคลื่อนตัวจากระบบอะนาล็อกไปสู่ดิจิตอล โดยประมาณการว่าในปี 2552-2555 จะมีการปรับเปลี่ยนการพิมพ์เนื้อหาจากอะนาล็อกมาสู่ดิจิตอลประมาณ 200 พันหน้าและประมาณการว่าปีนี้อุตสาหกรรมการพิมพ์แบบดิจิตอลในภูมิภาคเอเชียและญี่ปุ่น มีมูลค่าสูงถึง 60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 1.922 ล้านบาทเทียบมาจากอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯเท่ากับ 33 บาท) แม้ว่าขณะนี้จะมีสัดส่วนประมาณ 10% ของอุตสาหกรรมการพิมพ์ทั้งหมด แต่ก็มีแนวโน้มการเติบโตสูงกว่าการพิมพ์เนื้อหาแบบอะนาล็อก ซึ่งเอชพีมองว่ายังมีโอกาสการเติบโตในอุตสาหกรรมการพิมพ์แบบดิจิตอลอีกมหาศาล
ดังนั้นกลุ่มธุรกิจไอพีจี จึงได้วางกลยุทธ์การเติบโตธุรกิจไว้ 4 กลยุทธ์หลัก ประกอบด้วย 1.การมุ่งสร้างนวัตกรรมและเติบโตในธุรกิจหลัก โดยจะมุ่งการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว และมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้า, 2. มุ่งสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจในระยะยาว โดยจะมุ่งการนำเสนอบริการในรูปแบบของการบริหารจัดการการพิมพ์ (Manage Printing Service) ซึ่งเป็นบริการที่ครอบคลุมตั้งแต่ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เครื่องมือ หมึกพิมพ์ การสนับสนุนต่างๆ และบริการ รวมไปถึงบริการลีสซิ่ง , 3. มุ่งการเป็นผู้นำในระบบการพิมพ์แบบดิจิตอล และ 4. พัฒนาระบบการพิมพ์ผ่านเว็บ และโทรศัพท์มือถือ
****เล็งเจาะตลาดเอสเอ็มบี
นายโซโลมอน กล่าวต่ออีกว่าตลาดไอทีภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวกลับมา โดยกลุ่มที่มีการลงทุนไอทีสูง คือกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มบี และองค์กรขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามการลงทุนด้านไอทีขององค์กรธุรกิจนั้นจะมุ่งการลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ขณะที่ความต้องการการพิมพ์ขององค์กรในภูมิภาคนี้มีสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศจีน อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย รวมถึงไทย ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศหลักที่มีการเติบโตสูง
สำหรับกลยุทธ์การขยายตลาดเครื่องพิมพ์แบบเลเซอร์ไปยังเอสเอ็มบี และองค์กรขนาดใหญ่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ "Fast Forward with the HP Value Equation" จะประกอบด้วย 3 กลยุทธ์หลัก คือ การนำเสนอความสามารถในการรักษาสิ่งแวดล้อม , นวัตกรรมใหม่ และการให้ทางเลือก ขณะที่ผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่ออกสู่ตลาดจะมุ่งออกแบบมาเพื่อช่วยธุรกิจเอสเอ็มบีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้สามารถเติบโตอย่างรวดเร็วท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ของการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต ประสิทธิภาพการทำงาน
****โชว์นวัตกรรมใหม่
ซึ่งในส่วนของความสามารถในการรักษาสิ่งแวดล้อมเอชพียังได้พัฒนาเทคโนโลยีเปิด-ปิดเครื่องอัตโนมัติขึ้นมาเป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรม ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถประหยัดพลังงานมากกว่าขณะที่เครื่องอยู่ในช่วง Sleep Mode 3 เท่าตัว โดยจะกินไฟต่ำกว่า 1 วัตต์ โดยเครื่องพิมพ์รุ่นใหม่ที่มาพร้อมเทคโนโลยีเปิด-ปิดเครื่องอัตโนมัติ ประกอบด้วยรุ่น เลเซอร์เจ็ตโปร 1606dn ,เลเซอร์เจ็ตโปร 1566 ,เลเซอร์เจ็ตโปร 1102 , เลเซอร์เจ็ตโปร 1102w , เลเซอร์เจ็ต 1212nf มัลติฟังก์ชัน ,เลเซอร์เจ็ตโปร 1213nf มัลติฟังก์ชัน , เลเซอร์เจ็ตโปร 1132 มัลติฟังก์ชัน และเลเซอร์เจ็ตโปร 1136 มัลติฟังก์ชัน
นอกจากนี้ในเครื่องพิมพ์เลเซอร์เจ็ตโปร 1606dn และ เครื่องพิมพ์เอชพี คัลเลอร์ เลเซอร์เจ็ต โปร CP 5225dn ยังมาพร้อมกับคุณสมบัติการพิมพ์ 2 หน้าอัตโนมัติ ซึ่งสามารถช่วยลดการใช้กระดาษได้ประมาณ 25% พร้อมกันนั้นยังได้พัฒนาเทคโนโลยีอีซี่ พรินต์ เซิร์ฟเวอร์ ซึ่งเป็นโซลูชันบริหารจัดการต้นทุน โดยอาศัยเครื่องพิมพ์และกฎการใช้งานของผู้ใช้เป็นหลัก อาทิ บังคับให้ใช้การพิมพ์แบบ 2 หน้า การจำกัดการพิมพ์เอกสารภายในสำนักงาน พร้อมกันนั้นเจ้าของธุรกิจหรือผู้จัดการฝ่ายไอที ยังสามารถเลือกใช้หรือไม่ใช้ฟังก์ชันการทำงานต่างๆได้อย่างอิสระ ขณะที่ผู้ใช้สามารถตั้งค่าโหมดโทนเนอร์สำหรับการพิมพ์ข้อมูลเฉพาะประเภท ซึ่งช่วยให้สามารถประหยัดหมึกพิมพ์ หรือโทนเนอร์ลงไป 25%
ส่วนทางด้านการนำเสนอนวัตกรรมใหม่นั้น ได้นำเสนอนวัตกรรม Plug and Print ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถพิมพ์งานได้รวดเร็วใน 2 นาที โดยเทคโนโลยีที่เรียกว่าสมาร์ทพรินต์ ของเอชพีช่วยให้สามารถเชื่อมต่อกับโน้ตบุ๊ก เน็ตบุ๊ก หรือคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะผ่านสายยูเอสบีโดยไม่ใช้แผ่นซีดี โดยเครื่องพิมพ์จะทำการเชื่อมต่อกับวินโดว์สเพื่อติดตั้งใช้งานโดยอัตโนมัติ โดยเทคโนโลยีดังกล่าวมาพร้อมกับเครื่องพิมพ์เอชพีเลเซอร์เจ็ตโปร 1102 และ 1102W เครื่องพิมพ์เลเซอร์เจ็ตโปรมัลติฟังก์ชัน 1210 และเลเซอร์เจ็ต โปร 1606dn
****พัฒนาโมบายพรินต์สู่ตลาด
ขณะเดียวกันยังได้ร่วมมือกับ RIM ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแบล็คเบอร์รี่ ในการพัฒนาเทคโนโลยีโมบายพรินติ้งออกสู่ตลาด โดยสามารถสั่งพิมพ์คอนเทนต์ต่างๆ และอี-เมล์ ผ่านมือถือแบล็คเบอร์รี่ พร้อมกันนั้นยังได้เปิดตัว แกนเนอร์พกพา เอชพี สแกนเจ็ต โพรเฟสชันนัล 1000 ที่มีขนาดกะทัดรัด น้ำหนัก 0.64 กรัม ช่วยให้สามารถสแกนงานได้ทั้งในสำนักงาน และภาคสนาม โดยมีความละเอียดในการสแกนเอกสารขนาด 600 จุดต่อนิ้ว สามารถสแกนเอกสารขนาดเอ 4 และบัตรประชาชน ไม่มีแบตเตอรี่ สามารถใช้งานผ่านสายยูเอสบี ที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์
นอกจากนี้เอชพียังได้เปิดตัวเครื่องพิมพ์มัลติฟังก์ชัน เอชพีเลเซอร์เจ็ตโปร เอ็ม 1212 ซีรีส์ ซึ่งเป็นเครื่องพิมพ์รุ่นประหยัดที่ช่วยให้ผู้ใช้เอสเอ็มอีคืนทุนได้ภายใน 45 วัน โดยเครื่องพิมพ์รุ่นดังกล่าวสามารถใช้งานโทรสาร หรือ แฟกซ์ จากเครื่องพีซี สามารถเชื่อมต่อเน็ตเวิร์ก และถ่ายเอกสาร นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติเปิด-ปิดอัตโนมัติซึ่งช่วยให้ลูกค้าประหยัดพลังงาน โดยบริษัทได้กำหนดราคาจำหน่ายเครื่องรุ่นดังกล่าวไว้ประมาณ 249 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 8,466 บาท (อัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อ 34 บาท)
นายโซโลมอน กล่าวต่ออีกว่าส่วนการนำเสนอทางเลือกกับลูกค้านั้นได้นำเสนอบริการภายใต้แนวคิดการบริหารจัดการการพิมพ์ (Manage Printing Service) โดยเอชพีจะร่วมมือกับคู่ค้าช่องทางจัดจำหน่ายในแต่ละประเทศ ในการนำเสนอแพ็กเกจ ซึ่งประกอบด้วย ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เครื่องมือในการจัดการบริหารการพิมพ์ หมึกพิมพ์ การสนับสนุนต่างๆ และบริการดูแลรักษา ตลอดจนบริการลีสซิ่ง กับลูกค้าเอสเอ็มบี โดยที่ลูกค้าเอสเอ็มบีจ่ายค่าบริการเป็นรายเดือน ซึ่งในขณะนี้บริษัทได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการให้บริการที่เรียกว่า ระบบควิกเพจ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในการพิมพ์บนระบบคลาวด์คอมพิวติ้งขึ้นมา โดยระบบดังกล่าวจะเป็นช่องทางการเข้ามาใช้บริการเช่าใช้เครื่องพิมพ์ ดูข้อมูลการใช้งาน เก็บข้อมูลการใช้บริการ และการให้การสนับสนุนกับลูกค้า ทั้งนี้จะเริ่มต้นให้บริการดังกล่าวกับประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ ส่วนในไทยต้องรอความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และคู่ค้าช่องทางจำหน่าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,525 25-28 เมษายน พ.ศ. 2553