วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4183 ประชาชาติธุรกิจ
ทางเลือกใหม่ "งานพิมพ์ดิจิทัล" "สื่อโฆษณา" ที่กำลังมาแรง
ปัจจุบันสื่อโฆษณามีความหลากหลายและพัฒนามากขึ้น นอกเหนือจากสื่อเดิม ๆ ที่เห็นกันเป็นประจำ เริ่มตั้งแต่สื่อ ณ จุดขาย, โฆษณาที่ติดตามลิฟต์, รถขนส่งสาธารณะ หรือแม้แต่โฆษณาที่อาศัยตัวตึกอาคารเป็นเสมือนกระดาษ แม้ว่าปัจจุบันสัดส่วนของตลาดกลุ่มนี้จะยังมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับสื่อประเภทอื่น ๆ แต่กระนั้นอัตราการเติบโตของโฆษณากลุ่มนี้มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย
จากข้อมูลการวิจัยของ เอซี นีลสันรายงานว่า ปี 2009 ตลาดสื่อโฆษณาในประเทศไทยมีมูลค่า 89.1 พันล้านบาท โดยสื่อด้านงานพิมพ์มีสัดส่วน 30% แบ่งเป็นหนังสือพิมพ์ 16% นิตยสาร 6% สื่อกลางแจ้ง 4% และสื่อขนส่งสาธารณะ เช่น สื่อบนรถไฟฟ้า รถประจำทาง 2% และสื่อภายในอาคาร 1%
หากเจาะจงเฉพาะสื่อกลางแจ้ง สื่อขนส่ง และสื่อภายในอาคาร ซึ่งส่วนใหญ่ต้องอาศัยระบบงานพิมพ์แบบดิจิทัลนั้น รวมกันมีสัดส่วนประมาณ 7% คิดเป็น มูลค่ารวมในตลาดกว่า 6,500 ล้านบาท เลยทีเดียว
เรียกว่ารูปแบบสื่อโฆษณาที่อาศัย งานพิมพ์ดิจิทัลกำลังขยายบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยศักยภาพและเทคโนโลยีของเครื่องพิมพ์ที่ล้ำสมัยมากขึ้น ไม่ว่าการที่จะสามารถพิมพ์งานบนวัสดุต่าง ๆ ได้ หลากหลายมากขึ้น
"สมชัย สูงสว่าง" ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มธุรกิจภาพและการพิมพ์จากเอชพี ฉายภาพว่า แม้ว่าปี 2552 อุตสาหกรรมการพิมพ์ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจทำให้อัตราการเติบโตติดลบ แต่กระนั้นงานพิมพ์สำหรับสื่อกลางแจ้งและภายในอาคารมีอัตราการขยายตัวกว่า 300%
ปัจจัยหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจทำให้มีการใช้กลยุทธ์บีโลว์เดอะไลน์มากขึ้น ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่นิยมความสะดวกสบายและรวดเร็ว เช่น ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด หรือธนาคารมีการเปิดสาขาในห้างสรรพสินค้ามากขึ้น ทำให้สื่ออินดอร์ มีการขยายตัว รวมไปถึงเครือข่ายโรงแรมต่างประเทศเข้ามาขยายธุรกิจในไทยมากขึ้น และความมั่นใจของผู้บริโภคเริ่มกลับมา ทำให้องค์กรเอกชนเตรียมการขยายงานใหม่ ๆ
โดยเฉพาะประเทศไทย สมชัยกล่าวว่า กลุ่มสื่อการพิมพ์ประเภทดิจิทัลในไทยมีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ทำให้เอชพีให้ความสำคัญตลาดไทยอย่างมาก เพราะปัจจุบันเอชพีมีส่วนแบ่งการตลาดเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่ในไทยสัดส่วนถึง 80% โดยกลยุทธ์ของเอชพีจะเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ บนสินค้า เช่น ล่าสุดมีเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่รุ่นใหม่ที่ไม่มีส่วนประกอบของสารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและปราศจากกลิ่น ช่วยลดต้นทุนซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าของงานพิมพ์ให้กับกลุ่มผู้ให้บริการงานพิมพ์ได้ และจะเน้นการสร้างความรู้ให้กับตลาดมากขึ้นเพื่อช่วยขยายตลาดให้เติบโต โดยปีนี้คาดว่าอัตราการเติบโตของกลุ่มเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่จะเติบโตระดับหลักร้อยเปอร์เซ็นต์
ด้าน "สาธิต ชัยยะพัฒนาพร" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตำหนักศิลป์ แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด ผู้ให้บริการงานพิมพ์สื่อโฆษณาขนาดใหญ่ เล่าให้ฟังว่า ผู้ให้บริการงานพิมพ์ดิจิทัลรายใหญ่ในไทยมีประมาณ 5 ราย ซึ่งครอบครองตลาดกว่า 80% กลุ่มลูกค้าหลักที่นิยมใช้สื่ออินดอร์ คือ ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ร้านอาหารเพื่อนำโฆษณาไปติดตั้ง ณ จุดขาย โฆษณาที่ติดตามลิฟต์ เช่น ร้านอาหารในเครือไมเนอร์ เซ็นทรัล หรือบางอุตสาหกรรมนำโฆษณาติดตามกระจกห่อหุ้มร้านค้า เช่น ร้านอาหาร ธนาคาร ไปจนถึงสปา โรงแรม เป็นต้น แต่หากเป็นสื่อขนส่งสาธารณะ ลูกค้าส่วนใหญ่คือเจ้าของแบรนด์สินค้า ต่าง ๆ ที่หันมาเลือกโฆษณาผ่านรถไฟฟ้า หรือรถเมล์ เป็นต้น
"ตอนนี้ห้างสรรพสินค้ามีการขยายสาขามากขึ้น บริษัทจะมีรายได้มากขึ้น เพราะร้านค้าที่อยู่ในห้างก็จะต้องขยายสาขาตาม มีงานพิมพ์โฆษณาติดตามกระจก รวมถึงโรงหนังที่ขยายสาขามากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีสื่อโฆษณาเพื่อโปรโมตหนัง รวมถึงเครือข่ายโรงแรมขนาดใหญ่ก็ใช้บริการงานพิมพ์ดิจิทัลเช่นกัน ทั้งการแรปโฆษณาที่ห้องสปา หรือวอลเปเปอร์ภายในห้อง"
สาธิตเล่าว่า ธุรกิจการพิมพ์ของบริษัท ปีที่ผ่านมานั้นมีอัตราการเติบโตเพียง 1-2% เพราะปัจจัยเศรษฐกิจทำให้ปีที่ผ่านมาบริษัทหันมาลงทุนเพื่อปรับปรุงศักยภาพของโรงงานเป็นหลัก ด้วยการลงทุนซื้อเครื่องพิมพ์ใหม่จากเอชพีมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีนี้
โดยเฉพาะเครื่องพิมพ์รุ่นใหม่ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและปราศจากกลิ่น เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง สิ่งแวดล้อม เช่น โรงแรม ร้านอาหาร สปา เป็นต้น ซึ่งช่วยให้ตำหนักศิลป์สามารถสร้างมูลค่าของงานพิมพ์และความแตกต่างจาก ผู้ให้บริการงานพิมพ์รายอื่น ๆ ได้